3 ขั้นตอนรีไฟแนนซ์บ้าน พร้อมแจกเช็กลิสต์เอกสาร

หลายคนคงได้ยินคำว่า “รีไฟแนนซ์บ้าน” อยู่บ่อยครั้ง และอาจจะมีคำถามตามมาว่าการรีไฟแนนซ์บ้านนี้แท้จริงคืออะไร มีความสำคัญกับคนที่ซื้อบ้านขนาดไหน

การรีไฟแนนซ์บ้าน คือการเปลี่ยนการกู้สินเชื่อบ้านจากสถาบันการเงินเดิม ไปยังสถาบันการเงินที่ใหม่ โดยการขอเปลี่ยนสถาบันการเงินครั้งนี้ จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อทำการผ่อนบ้านมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี ถึงจะสามารถขอสินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์บ้านได้ ซึ่งการรีไฟแนนซ์บ้านสามารถทำเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ได้หลากหลาย แต่สำหรับบทความนี้จะขอแนะนำการรีไฟแนนซ์บ้านสำหรับผู้กู้ที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง มาดูกันว่าการรีไฟแนนซ์บ้านมีประโยชน์เรื่องใดบ้าง

  • ลดอัตราดอกเบี้ยบ้าน 

การที่ทำให้ดอกเบี้ยถูกลงถือเป็นประโยชน์หลักของการรีไฟแนนซ์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด หากอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินใหม่ที่จะรีไฟแนนซ์ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสถาบันการเงินเดิม เช่น สินเชื่อเดิมทำการกู้ที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 แต่สัญญาใหม่มีอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 3 เมื่ออัตราดอกเบี้ยถูกลงก็จะส่งผลให้ดอกเบี้ยรายเดือน รวมทั้งดอกเบี้ยรวมของสัญญาถูกลงไปด้วย การรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อขอรับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงจึงเป็นตัวเลือกแรกๆ ของผู้กู้ที่ต้องการลดยอดหนี้ในการผ่อนชำระนั่นเอง

  • ลดระยะเวลาการผ่อนบ้าน

สินเชื่อบ้านเป็นการกู้ที่มีระยะเวลาผ่อนหลายสิบปี การกู้บ้านในครั้งแรกผู้กู้มักขอสินเชื่อที่มีระยะผ่อนตั้งแต่ 30 -35 ปี โดยทั่วไปแล้วการขอสินเชื่อบ้านในครั้งแรกมักยื่นกู้ในระยะเวลาผ่อนส่งที่นานที่สุดไว้ก่อน ตามอัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ทำการขอสินเชื่อ เมื่อเวลาผ่านไป หากผู้กู้มีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นก็สามารถขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์ เพื่อปรับลดดอกเบี้ยและลดจำนวนปีในการผ่อนลงได้ ก็จะทำให้สามารถผ่อนบ้านหมดได้เร็วขึ้น 

ยกตัวอย่าง สัญญาการกู้สินเชื่อบ้านเดิมดอกเบี้ยร้อยละ 6 ผ่อนเดือนละ 15,000 บาท เป็นระยะเวลา 30 ปี เมื่อเวลาผ่านไปผู้กู้มีรายรับมากขึ้น จึงทำการขอรีไฟแนนซ์เพื่อขอลดดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 2.5 พร้อมกับลดระยะเวลาการผ่อนให้สั้นลง โดยผ่อนเดือนละ 20,000 บาท ในระยะเวลา 25 ปี ก็จะส่งผลให้การชำระหนี้สินเชื่อบ้านหมดได้ไวขึ้น รวมถึงดอกเบี้ยโดยรวมของสัญญาก็ลดลงด้วย

  • เพิ่มวงเงินสินเชื่อบ้าน

การเพิ่มวงเงินกู้สามารถใช้การรีไฟแนนซ์เพื่อขออนุมัติเพิ่มวงเงินได้ ซึ่งผู้กู้จะได้เงินก้อนจากส่วนต่างที่ชำระไปแล้ว 3 ปีออกมา เพื่อนำไปใช้จ่ายในการรีโนเวทบ้าน หรือนำไปทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ได้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยบ้านจะถูกกว่าการขอสินเชื่อแบบอื่นๆ

ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้านสำหรับมือใหม่

เมื่อเข้าใจความหมายและข้อดี-ข้อเสียของการรีไฟแนนซ์เรียบร้อยแล้ว ก็มาถึง “ขั้นตอน” ของการยื่นขอสินเชื่อ สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งผ่อนชำระครบ 3 ปีไปหมาดๆ มาดูกันว่าจะมีขั้นตอนและวิธีการเตรียมตัวอย่างไร

  1. ศึกษาเงื่อนไขจากธนาคารเดิมและค่าธรรมเนียมต่างๆ 

การรีไฟแนนซ์บ้านจำเป็นต้องดูรายละเอียดเงื่อนไขของสัญญาการกู้เดิม ว่าสามารถทำการรีไฟแนนซ์ได้หรือไม่ หรือมีเงื่อนไขอย่างไร โดยมีข้อที่ควรคิดคำนวณความคุ้มค่าเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น 

ยกตัวอย่าง เช่น ค่าเบี้ยปรับการไถ่ถอนก่อนกำหนด ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ค่าธรรมเนียมการปล่อยกู้ ค่าอากรแสตมป์ ค่าประกันอัคคีภัย เป็นต้น หากได้รับการยกเว้น หรือเสียในปริมาณที่คำนวณแล้วเทียบกับอัตราดอกเบี้ยใหม่คุ้มกว่า ก็สามารถดำเนินการในข้อถัดไปได้เลย

  1. เช็กอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์

หลังจากตรวจสอบข้อมูลจากสถาบันการเงินเดิมว่าสามารถทำการรีไฟแนนซ์บ้านได้แล้ว ขั้นตอนต่อมาต้องตรวจสอบอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่ต้องการย้ายไปว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีที่ย้ายไปเป็นเท่าไร เนื่องจากแต่ละสถาบันการเงินมีอัตราดอกเบี้ย และโปรโมชันที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถดูอัตราดอกเบี้ยจาก 7 ธนาคารได้ตามตารางด้านล่าง

ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ย
เฉลี่ย 3 ปี*
วงเงินกู้สูงสุด

ระยะเวลาการกู้ (ปี)

ธนาคารกรุงไทย 2.60% 100% 40
ธนาคารทหารไทยธนชาต 2.75% 90-95% 35
ธนาคารกรุงเทพ 2.78% 100% 30
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 2.83% 100% 40
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 2.88% 95% 30
ธนาคารไทยพาณิชย์ 4.90% 100% 30
ธนาคารกสิกรไทย 5.97% 90% 30

ข้อมูลอ้างอิง : ธนาคารแห่งประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 28 กันยายน 2565
*อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกเป็นไปตามที่แต่ละธนาคารกำหนด อาจมีการเปลี่ยนแปลง ควรตรวจสอบกับทางธนาคารอีกครั้ง

  1. เตรียมเอกสารการรีไฟแนนซ์บ้าน

การยื่นขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์ มีขั้นตอนที่ไม่ต่างกับการขอสินเชื่อซื้อบ้านครั้งแรกมากนัก เมื่อเปลี่ยนสถาบันการเงินก็จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลของสินทรัพย์ และสถานะทางการเงินของผู้กู้ก่อนอนุมัติ โดยเอกสารที่ต้องใช้สำหรับการยื่นขอสินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ มีดังนี้

3.1 เอกสารข้อมูลส่วนบุคคล 

เอกสารข้อมูลส่วนบุคคลจะช่วยยืนยันตัวตนกับทางสถาบันการเงินว่าเป็นผู้กู้ตัวจริงที่ไม่ใช่บุคคลแอบอ้าง โดยเอกสารจะประกอบด้วย

  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
  • สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ของคู่สมรส (ถ้ามี)
  • สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี) / หย่า (ถ้ามี)
  • สำเนาใบมรณะบัตร และทะเบียนสมรสของคู่สมรส (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)

3.2 เอกสารแสดงรายได้

เอกสารการรีไฟแนนซ์บ้านในส่วนนี้จะเป็นเอกสารที่ทำให้ธนาคารทราบถึงคุณสมบัติของผู้กู้ว่าเข้าเงื่อนไขการขอสินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์หรือไม่ เพราะจะแสดงสถานะทางการเงิน รายได้ และประวัติการเดินบัญชีของผู้กู้ โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กรณีบุคคลมีรายได้ประจำ

  • สลิปเงินเดือน ย้อนหลัง 3 เดือน หรือหนังสือรับรองการทำงาน
  • สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน
  • หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการ (ถ้ามี)
  • สำเนารับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) (สำหรับบางธนาคารเท่านั้น)

กรณีบุคคลที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว

  • สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน/ใบทะเบียนการค้า
  • สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีชื่อผู้กู้/ผู้กู้ร่วม
  • สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 12 เดือน (ทั้งในนามบุคคล และกิจการ)
  • สำเนา ภ.พ. 30 (ถ้ามี) หรือ ภงด. 50/51 ย้อนหลัง 5 เดือน (ถ้ามี)

3.3 เอกสารแสดงด้านหลักประกัน

เอกสารส่วนนี้จะยืนยันความเป็นเจ้าของหลักประกันที่จะนำมาขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์ โดยจะมีเอกสารจากธนาคารเดิม และจากกรมที่ดิน ดังนี้

  • สำเนาเอกสารโฉนดที่ดิน หรือเอกสารกรรมสิทธิ์ห้องชุด อช.2
  • สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน ทด.13 หรือ สัญญาให้ที่ดิน ทด.14 หรือ สัญญาซื้อขายห้องชุด
  • สำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน หรือ สำเนาสัญญาจำนองห้องชุด
  • สำเนาสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินเดิม
  • สำเนาใบเสร็จผ่อนชำระค่างวดบ้าน หรือ ถ้าผ่อนชำระแบบตัดค่างวดอัตโนมัติให้ใช้รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 12 เดือน

เมื่อศึกษาข้อมูล และเตรียมความพร้อมในการขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์แล้ว การทำเรื่องขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์จะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป เมื่อเทียบแล้วว่าอัตราดอกเบี้ยใหม่จะถูกลงกว่าเดิมทำให้ยอดหนี้ลดลง และลดภาระในการชำระให้หมดไวขึ้นในกรณีที่ต้องการโปะบ้าน ก็ถือว่าเป็นเทคนิคในการช่วยลดหนี้ได้เป็นอย่างดี หากคุณกำลังมองหาบ้านที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต หรือกำลังมองหาบ้านหลังที่ 2 พร้อมเจ้าหน้าที่สำหรับให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกในการยื่นขอสินเชื่อ ขอแนะนำโครงการจากอารียา ทั้งบ้าน ทาวน์โฮม และคอนโด บนหลากหลายทำเลศักยภาพ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่