No Eave House Style
หลังคาลาดเอียงไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับการออกแบบบ้านในไทย เนื่องด้วยสภาพอากาศที่ร้อนชื้นและฝนตกชุก บ้านในไทยจึงนิยมออกแบบให้มีองศาลาดชันมากเป็นพิเศษตั้งแต่ยุคเรือนไทยมาแล้ว เพื่อให้หลังคาบ้านทำหน้าที่ป้องกันความร้อนและระบายน้ำฝนได้ดี คนไทยจึงนิยมสร้างบ้านด้วยหลังคาทรงจั่ว ปั้นหยา มะนิลา แต่หากใครรู้สึกว่าบ้านแบบเดิมๆ ดูจำเจไม่ทันสมัย ไม่เข้ากับบริบทแวดล้อมในสังคมเมืองทุกวันนี้ เรามีทางเลือกที่น่าสนใจมาฝากกันค่ะ
“Modern Pitched Roof” ชูจุดเด่นตอบโจทย์การอยู่อาศัย
ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุที่พัฒนามากขึ้น ได้เอื้อให้การสร้างบ้านรูปลักษณ์ใหม่ๆ อย่างบ้านหลังคาทรงสูงแต่มีหน้าตาทันสมัยหรือรูปแบบบ้านแบบ “Modern Pitched Roof” ที่เกิดจากการประยุกต์บ้านสไตล์โมเดิร์นแบบตะวันตกมาใช้ โดยปรับหลังคาให้มีลักษณะทรงสูงขึ้น องศาลาดเอียงขึ้นเพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศในเมืองไทย ทั้งนี้สามารถดีไซน์ให้มีความสูงต่ำลดหลั่นกันไปตามรสนิยมของเจ้าของบ้าน พร้อมเผยลูกเล่นได้อย่างน่าสนใจ
1. พื้นที่ใต้โถงหลังคาช่วยให้อากาศภายในบ้านหมุนเวียน
หลังคาทรงสูงมักจะมีพื้นที่ว่างใต้โถงหลังคา โดยอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นไปอยู่บริเวณนี้ หากมีการติดตั้งช่องระบายอากาศหรือช่องลมร่วมด้วย ยิ่งจะช่วยให้มวลอากาศดังกล่าวระบายออกจากตัวบ้านได้ดีขึ้น และดึงให้อากาศใหม่เข้ามาแทนที่ ทำให้บ้านมีอุณหภูมิที่ลดลง อากาศหมุนเวียนและปลอดโปร่ง
2. องศาลาดเอียงช่วยลดการสัมผัสกับรังสีความร้อน
หลังคาลาดเอียงช่วยให้ผิวกระเบื้องลดการสัมผัสกับแสงแดด ส่งผลให้รังสีความร้อนกระทบลงมาบนผืนหลังคาได้ไม่เต็มร้อย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อุณหภูมิภายในบ้านเย็นสบายกว่าหลังคาแบบองศาต่ำ
3. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำฝน
องศาลาดชันมีข้อดีคือช่วยระบายน้ำฝนในเวลาฝนตกได้อย่างรวดเร็ว สามารถติดตั้งร่วมกับอุปกรณ์ป้องกันการรั่วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการรั่วซึม นอกจากนี้ อาจออกแบบหลังคาให้มีชายคายื่นยาวออกไปจะช่วยป้องกันฝนสาดได้ดียิ่งขึ้น
ต่อยอดสู่บ้านสไตล์ “No Eave” สถาปัตยกรรมสุดเฉียบ
และมากไปกว่านั้น เช่นเดียวกับรูปลักษณ์บ้านไร้ชายคา ซึ่งเรียกกันว่าบ้านสไตล์ “No Eve” ที่เน้นการโชว์หลังคาทรงจั่วสามเหลี่ยมที่ลาดลงมาเป็นส่วนเดียวกับผนังโดยไร้ชายคาคั่น ซึ่งก็ตามแต่ว่าจะออกแบบให้ลาดชันเท่าใด แน่นอนว่าความลาดชันย่อมมีผลต่อคุณสมบัติในการอยู่อาศัย หรือจะเรียกว่านำข้อดีของบ้านแบบ “Modern Pitched Roof” มาเสริมและปรุงแต่งให้เกิดรูปแบบใหม่ ที่สร้างแรงบันดาลใจและความแปลกตาให้กับงานหลังคาได้อย่างน่าทึ่ง จึงเป็นบ้านที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะดูเรียบง่ายโปร่งโล่งทว่าเฉียบเนี้ยบ รูปทรงบ้านเช่นที่ว่านี้ โดดเด่นและเตะตามากกว่าบ้านหลังคาจั่วทั่วไป ซึ่งมาจากแนวคิดการลดทอนองค์ประกอบที่เป็นส่วนเกินของบ้านออก ทำให้ตัวบ้านได้แสดงรูปลักษณ์เรขาคณิตอย่างตรงไปตรงมา หรือเรียกว่าได้ว่าเป็นความสวยงามน่าดึงดูดแบบ “มินิมอล” นั่นเอง เมื่อภาพลักษณ์ภายนอกเด่นชัด สเปซภายในก็ถูกออกแบบให้สอดคล้องไปกับภาพลักษณ์ภายนอก เช่น การนิยมทำฝ้าภายในให้ลาดเอียงไปในองศาเดียวกับหลังคา นอกจากทำให้สเปซสามารถสะท้อนตัวตนของบ้านแล้ว ยังทำให้พื้นที่ภายในโปร่งโล่งและอยู่สบายขึ้นจากฝ้าเพดานสูงอีกด้วย แถมปัจจุบันยังมีวัสดุที่ตอบโจทย์และรองรับสภาพอากาศให้คุณได้อยู่อาศัยแบบไร้กังวลกับปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา
รูปแบบและแนวทางการเลือกใช้วัสดุ
บ้านแบบ “No Eave” นิยมออกแบบในหลากหลายแนวทาง ขึ้นอยู่กับรูปทรง สเปซ และวัสดุที่เลือกใช้ แนวทางหนึ่งคือออกแบบในสไตล์อบอุ่น โดยลดความชัดเจนของรูปทรงที่ทำให้รู้สึกแข็งกระด้าง และสร้างสเปซให้กว้างขวางรวมไปถึงการใช้วัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ให้อารมณ์อบอุ่นแบบตะวันออกก็จะช่วยทำให้บ้านดูผ่อนคลายได้เช่นเดียวกัน หรือในอีกสไตล์ คือการย้อนกลับไปที่ความเรียบง่ายเป็นสำคัญ โดยเน้นใช้วัสดุที่มีเนื้อสัมผัสเรียบเนียนกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับตัวบ้าน
ในขณะเดียวกันการแสดงออกถึงรูปลักษณ์ที่ชัดเจนทำให้บ้านแบบ “No Eave” มีภูมิทัศน์ที่โฉบเฉี่ยวสวยล้ำ อย่างบ้านที่มีรูปทรงแปลกตาหรือมีสเปซอันซับซ้อน การเลือกใช้วัสดุจึงควรสอดคล้องและส่งเสริมความล้ำสมัย อาทิ เช่น การเลือกใช้หลังคาคอนกรีตหรือหลังคากระเบื้องรุ่นใหม่ๆ ที่มีดีไซน์คมกริบในทุกองศา มีเส้นสายเรียบตรงและมีโทนสีต่างๆ ที่เข้ากับตัวบ้าน สามารถติดตั้งกับโครงหลังคาแบบลาดชันได้เป็นอย่างดี กับนวัตกรรมที่ช่วยสะท้อนและป้องกันความร้อนให้กับตัวบ้าน ซึ่งจะลดการทำงานของแอร์ได้ถึง 25% ทีเดียว
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องน่ารู้ส่วนหนึ่งของบ้านแบบ “Modern Pitched Roof” และ “No Eave” ที่นับเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ซึ่งกำลังมาแรงตอบโจทย์ของผู้อยู่อาศัยยุคใหม่ได้ในหลากหลายแง่มุม
Credit : dsignsomething.com / banidea.com / scgbuildingmaterials.com
Credit Images : casalibrary.com (River Retreat by Edwards White Architects)