ขั้นตอนการตรวจสอบรับบ้าน

การตรวจรับบ้านถือเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับเจ้าของบ้านเลย เพราะจะต้องตรวจสอบงานก่อนจะรับมอบบ้าน และใช้ความละเอียดถี่ถ้วนมากๆ ในการตรวจสอบ เพราะหากผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้ว เจ้าของบ้านก็จะลงนามในเอกสารรับมอบบ้าน และไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายคืออการรับโอนบ้านเเละที่ดินที่กรมที่ดิน ดังนั้นก่อนที่เราจะตรวจรับบ้าน สิ่งสำคัญที่จะต้องท่องจำให้ขึ้นใจเลยก็คือ “บ้านไม่พร้อม ไม่ควรลงชื่อรับบ้านเด็ดขาด” เชื่อว่าหลายคนคงรู้เหตุผลดีอยู่เเล้ว เพราะก่อนจะลงชื่อนั้นอำนาจเด็ดขาดยังเป็นของเราอยู่ สามารถแก้ไขงานต่างๆ ได้ เเต่ถ้าลงชื่อรับมอบบ้านไปแล้วเราก็จะไม่มีอำนาจในการสั่งการใดๆ ดังนั้นเพื่อให้เราพร้อมเวลาไปตรวจรับบ้าน เรามาศึกษาขั้นตอนการเตรียมตัวตรวจสอบบ้านกันก่อนดีกว่า จะได้รู้ว่าต้องเตรียมอะไรไปบ้าง?

ขั้นตอนการตรวจสอบรับบ้าน

  1. ก่อนตรวจรับบ้านต้องอ่าน” สัญญาจะซื้อจะขาย” รวมทั้งเงื่อนไขต่างๆ ให้ครบถ้วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง
  2. วางแผนนัดวันตรวจรับบ้าน เจ้าของบ้านควรมีเวลาว่างอย่างน้อย 1 วันเพื่อนัดตรวจรับตั้งเเต่ช่วงเช้า เพราะหากไปตรวจรับช่วงเย็นหรือตอนกลางคืนจะมีเวลาตรวจน้อยเกินไป เเละอาจมีเเสงสว่างไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบข้อบกพร่องต่างๆ ของงานก่อสร้างได้ทั้งหมด
  3. ควรนัดกับเจ้าหน้าที่ของโครงการ ให้ชัดเจนและโทรศัพท์ยืนยันก่อนวันตรวจทุกครั้งเพื่อไม่ให้เสียเวลาทั้งสองฝ่าย
  4. ไม่ควรไปตรวจรับบ้านคนเดียวอย่างน้อยควรไป 2 คน โดยให้อีกคนหนึ่งตรวจสอบ ส่วนอีกคนทำการบันทึกหรือถ่ายภาพ
  5. กวาดสายตาตรวจสอบไล่ไปทีละพื้นที่ของบ้านเริ่มจากหน้าบ้านเเล้วเดินไปรอบๆ บ้านในทิศทางเดียวกันทีละส่วนทีละพื้นที่ ไม่ต้องย้อนกลับไปกลับมา หลังจากนั้นก็ตรวจสอบไล่ไปทีละห้อง ไม่ใช้วิธีการตรวจสอบแบบเดินไร้ทิศทาง
  6. พื้นที่ที่จะต้องตรวจสอบทุกระบบอย่างละเอียด คือ
  • พื้นที่นอกบ้าน เช่น ที่ดิน รั้ว ต้นไม้ หญ้า กรณีบ้านมีพื้นที่เป็นตารางวาสามารถวัดได้ดังนี้
    • พื้นที่ดินเป็นตารางวา = กว้าง (เมตร)xยาว (เมตร) เช่น หน้ากว้าง 15 เมตร ลึก 16 เมตร
    • พื้นที่ดินเป็นตารางวา = 15 เมตรx16 เมตร÷4 = 60 ตารางวา
  • งานโครงสร้าง สังเกตจากการเดินในบ้านว่ามีอาการเอียงหรือเทไปด้านใดด้านหนึ่งหรือไม่ ใช้ระดับน้ำวางบริเวณพื้น หรือตามขอบผนัง หรือเสา เเละสังเกตรอยร้าวต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยรอยร้าวจะเเบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือรอยร้าวที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้าง เช่น ผนังมีรอยร้าวเฉียง 45 องศา เเละรอยร้าวที่ไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้าง เช่น ร้าวลายงา
  • ระบบหลังคา
  • งานสถาปัตยกรรม พื้น ผนัง ฝ้าเพดาน ช่องเปิด
  • ระบบไฟฟ้า
  • ระบบสุขาภิบาล
  • อุปกรณ์ประกอบต่างๆ เช่น ประตู หน้าต่าง สุขภัณฑ์ ทั้งหมดคือขั้นตอนการตรวจรับบ้านที่เราสามารถนำไปใช้และสามารถทำได้ด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญคือเราต้องละเอียดรอบคอบ เจอจุดที่ต้องแก้ไขอย่าปล่อยผ่านเด็ดขาด และต้องให้โครงการรีบดำเนินการเเก้ไข ไม่อย่างนั้นเราอาจต้องมาเสียใจทีหลังก็ได้นะ