Architecture Post COVID-19
Architecture Post COVID-19
สถาปัตยกรรมบ้านและเมืองหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนไปอย่างไร? เป็นอีกหนึ่ง “New Normal” ที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจ เพราะในอนาคตอันใกล้บ้านจะกลายเป็นปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญมากๆ คนที่ไม่เคยมีบ้านจะอยากมีบ้านมากขึ้น และให้ความสำคัญกับรายละเอียดของการออกแบบบ้าน ทั้งในแง่ฟังก์ชั่น ประโยชน์ใข้สอยที่ตอบรับกับ lifestyle ที่ปลอดภัยจากเชื้อโรค ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ และผู้คนจะโหยหาธรรมชาติมากขึ้น อยากมีสวนในบ้าน มีพื้นที่ผ่อนคลายที่เป็นส่วนตัว และมุมถ่ายรูปสวยๆ ไว้อวดเพื่อนทางโซเชียล เหนือสิ่งอื่นใด คือ บ้านที่อยู่สุขสบายอย่างแท้จริง เพราะสถานการณ์นี้ทำให้คนต้องอยู่บ้านมากกว่าเดิม และเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการอยู่อาศัยไปอย่างสิ้นเชิง
– ผลกระทบในเชิงฟังก์ชั่น ความสะดวกสบายในทุกมิติ
ในแง่ของฟังก์ชั่นและรูปแบบอาคาร เริ่มจากทางเข้าบ้านจะต้องมีพื้นที่สำหรับล้างรถ เพื่อล้างสิ่งสกปรกและเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการเดินทาง ก่อนเข้าสู่ตัวบ้านอาจจะมีพื้นที่ล้างมือล้างเท้าคล้ายบ้านไทยในอดีตที่มีบ่อล้างเท้าหรือตุ่มน้ำที่หน้าบันได พอเดินเข้าบ้านมี Changing Room สำหรับเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือซักผ้าเสียก่อน รูปแบบบ้านจึงต้องเป็นบ้านที่มีความยืดหยุ่นสูง มีพื้นที่เอนกประสงค์กว้างขวาง ปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นห้องเรียนออนไลน์ได้ Work From Home ได้ พื้นที่ในการทำอาหารรวมที่ใช้งานได้สะดวก ตลอดจนพื้นที่สวนขนาดกะทัดรัดไว้เป็นมุมพักผ่อน ที่สามารถรองรับการการใช้ชีวิตในบ้านในระยะเวลานานๆ มีความสุนทรียะในทุกๆ กิจกรรมด้วยบรรยากาศที่มีชีวิตชีวา เนื่องจากเวลาที่เราอยู่กับที่นานๆ จะเกิดภาวะตึงเครียด โดยเฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยกันหลายคน สุดท้ายแล้วบ้านควรจะกลมกลืนไปกับธรรมชาติ บ้านที่อยู่สบายจะสร้างความสุขและเติมพลังชีวิตได้ ธรรมชาติจะช่วยให้เราผ่อนคลายและหายใจได้เต็มปอด ส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งกายและใจ
– Smart Home คำตอบสำหรับบ้านในอนาคต
ภายใต้แนวคิด Sustainable Design โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การก่อสร้างและการบริหารการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าภายในตัวบ้าน คือทำอย่างไรที่จะใช้องค์ประกอบจากธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลธรรมชาติให้อยู่กับเราไปได้นานๆ สามารถตรวจสอบการทำงานต่างๆ ได้ทั้งระบบ โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดและอากาศบริสุทธิ์ ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีหลายๆ อย่างมาใช้งาน มีผู้ช่วยทำความสะอาดอย่างหุ่นยนต์ดูดฝุ่น หุ่นยนต์ถูพื้น การใช้อุปกรณ์เหล่านี้ทำให้เห็นความสำคัญของการออกแบบ Floor Plan เพื่อให้หุ่นยนต์ต่างๆ ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ดีไซน์ไร้การสัมผัสเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่มาแรง ระบบอัตโนมัติในบ้านจะถูกนำมาใช้มากขึ้น เพื่อลดการสัมผัสและการแพร่เชื้อโรค อาทิ ประตูและระบบเปิดปิดไฟฟ้าผ่านสมาร์ทโฟน
– เกษตรวิถีและบ้านยุคดั้งเดิมในรูปโฉมใหม่
เทรนด์การสร้างบ้านเกษตรวิถีชีวิตพอเพียงจะได้รับความนิยมสูงขึ้น เพราะเมื่อถึงวิกฤตจริงๆ เราจะเห็นได้ชัดว่า การปลีกชีวิตอยู่อย่างสมถะและสันโดษจะตอบโจทย์ทุกช่วงเวลาได้ดีกว่า สำหรับการอยู่อาศัยภายในเมืองบนพื้นที่เล็กๆ ก็สามารถใช้วิถีชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้เช่นกัน เพียงแค่แบ่งสัดส่วนของพื้นที่สำหรับปลูกผักไว้รับประทานเอง ไม่ว่าจะเป็นบนดาดฟ้า ระเบียง และพื้นที่เล็กๆ รอบตัวบ้าน แม้ปัจจุบันจะมีธุรกิจ Food Delivery และเทคโนโลยีออนไลน์ช่วยให้การใช้ชีวิตช่วงวิกฤตเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำอาหารทานเองย่อมปลอดภัยและอุ่นใจกว่า บ้านจึงควรมีห้องครัวที่เหมาะกับการเตรียมอาหาร มีพื้นที่เก็บอาหารแห้งรวมทั้งครัวไทยแบบเปิดโปร่ง
– Universal Design โซลูชั่นสำหรับพื้นที่คนเมือง
ชวนมาดูแนวคิดสำคัญๆ อย่าง Universal Design ที่ว่าด้วยการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม โดยการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ให้กับงานออกแบบสถาปัตยกรรม ทั้งบ้าน แหล่งชุมชนโดยรอบ และพื้นที่สาธารณะในเมือง ที่จะช่วยให้วงการสถาปัตยกรรมปรับตัวให้เท่าทันกับโจทย์ใหม่ๆ ในศตวรรษที่ 21 นี้ เป็นการออกแบบที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยคำนึงถึงความต้องการอันแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะมีความสามารถในการดำรงชีวิตแตกต่างกันอย่างไร ไม่ว่าจะมีสถานะต่างกันอย่างไร หรือไม่ว่าจะมีอายุและความแตกต่างทางร่างกายอย่างไร งานออกแบบอาคารสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับความเท่าเทียมกัน
ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์กับการออกแบบให้มีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะที่ต้องรองรับคนจำนวนเยอะๆ อาทิ อาคารขนาดใหญ่อย่างท่าอากาศยาน โรงแรม โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง สถานที่ออกกำลังกาย หรือสถานประกอบการขนาดต่างๆ การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคาร อาทิ Touchless Technology หรือการออกแบบให้มีปุ่มลิฟต์ระดับต่ำที่สามารถกดควบคุมได้ด้วยเท้า การใช้ระบบเสียงเพื่อควบคุมลิฟต์ การสมาร์ทโฟนเพื่อควบคุมระบบไฟฟ้าภายในห้อง ไปจนถึง Self-cleaning Restroom ห้องน้ำที่มีระบบทำความสะอาดตัวเอง การเลือกใช้วัสดุปิดผิวที่เรียบเป็นมันวาว เช่น โลหะ อย่างทองแดง (Copper) ลดการเกาะติดของเชื้อโรค คือเน้นไปที่การส่งเสริมสุขภาวะที่ดี อาคารที่ใช้ระบบปิด ระบบระบายอากาศต้องมีประสิทธิภาพในการระบายเชื้อโรคออกจากอาคารได้อย่างรวดเร็ว หรือการใช้แสง UV ภายในอาคารเพื่อฆ่าเชื้อโรค
อันที่จริง Universal Design เอื้อให้การออกแบบทางสถาปัตยกรรมเว้นระยะห่างทางกายภาพและเชิงสังคมอยู่แล้ว เมื่อเข้าสู่มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่คนยังต้องการส่งอาหาร การออกกำลังกาย และการพบปะสันทนาการกัน หน้าที่ของการออกแบบทางสถาปัตยกรรมจึงต้องทำให้การใช้พื้นที่ส่วนกลางของชุมชนและย่านที่อยู่อาศัย สามารถรองรับการออกมาใช้พื้นที่สาธารณะได้เป็นอย่างดี