Food Delivery ไร้ขยะ

Food Delivery ไร้ขยะ

560 ล้านชิ้นต่อปี คือ ปริมาณขยะจาก Food Delivery ในไทย
1,500 กิโลกรัมต่อวัน คือ ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นจากอาหารและหน้ากากอนามัย
เฉพาะกรุงเทพในช่วงโควิดที่ผ่านมา เมื่อทุกคนพร้อมใจกันสั่งข้าวไปกินที่บ้าน
สิ่งที่ตามมา คือ ขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลที่ใช้เวลาย่อยสลายอย่างต่ำ 200-400 ปี

เมื่อตลาดธุรกิจ Food Delivery กำลังใหญ่ขึ้นทุกวัน ปัญหาขยะจากแพ็กเกจพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use Plastic) ก็ทวีคูณด้วยเช่นกัน การสั่งอาหาร 1 ออเดอร์พ่วงมาด้วย ถุงหิ้ว x ซองใส่ซอส x ซองใส่ตะเกียบและช้อนส้อม x ถุงใส่น้ำซุป x ถุงใส่ข้าว x ถุงใส่หลอด เบื้องหลังความสะดวกสบายที่อิ่มท้องแบบไม่ต้องล้างจานและไม่ต้องลุกไปที่ร้านนี้ แลกมาด้วยสารพันไอเท็มพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่กลายเป็นสารพัดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกโดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีปัญหาขยะล้นกำลังตั้งคำถามว่า
เราสามารถ Eat at Home อย่างสบายใจ สะดวก และไร้ขยะได้ไหม กระแส Zero Waste หรือ ขยะเหลือศูนย์ ซึ่งเริ่มจากคนนิยมไม่พกหลอด ไม่พกถุง อาจเป็น New Normal มาตรฐานใหม่ในวงการ Food Delivery ด้วยเช่นกัน

แต่การสั่งอาหารแบบไร้ขยะนั้นทำอย่างไรและทำได้จริงไหม ตามมาดูหลากไอเดียจากผู้ประกอบการ ธุรกิจ และเมืองที่ใส่ใจการส่งอาหารแบบรับผิดชอบโลกไปด้วยกัน


Indy Dish x Superlock การร่วมมือกันส่งอาหารด้วยข้าวกล่อง
Indy Dish แอปรวบรวมร้านอาหารเพื่อสุขภาพโดยคนไทย มีความตั้งใจบริการส่งอาหารที่ดีต่อร่างกาย ดีต่อใจ และดีต่อโลกไปพร้อมๆกัน แม้การบริหารจัดการจะยากขึ้นมาก หากใช้ภาชนะที่ไม่เกิดขยะ แต่ผู้ก่อตั้ง Indy Dish คุณดารินเชื่อว่าปัญหาขยะเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ จึงได้ร่วมมือกับ Super Lock แบรนด์กล่องพลาสติกสัญชาติไทยเช่นกัน
ส่งอาหารให้ลูกค้าด้วยภาชนะใช้ซ้ำ โดยเริ่มจากทำแคมเปญ ‘มื้ออร่อยที่ใช้ภาชนะรักษ์โลกได้’ ในปี 2019 ลูกค้าสามารถเลือกบริการ ‘ใส่อาหารในภาชนะรักษ์โลก’ ทำให้ไม่รู้สึกผิดที่สั่งอาหาร Delivery หลายคนที่สั่งอาหารจากข้าวกล่องมักกลับมาสั่งซ้ำ แสดงให้เห็นว่าแม้ในไทยเอง การส่งอาหารแบบไร้ขยะที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป


Trashless Takeaway
ด้วยแรงบันดาลใจจากระบบปิ่นโตของอินเดีย
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เริ่มจาก เชฟชื่อ Hunter J. Moyes สังเกตว่า คนอินเดียมักสั่งอาหารไปกินที่ทำงานโดยใช้ปิ่นโตในชีวิตประจำวันมานานแล้ว ทำให้อินเดียมีระบบส่งอาหารที่ไม่เกิดขยะพลาสติกอย่างน่าทึ่ง เขาจึงก่อตั้งโปรเจ็คชื่อ Trashless Takeaway ที่แคนาดา ผลิตปิ่นโตแบรนด์ของตัวเองพร้อมสร้างเครือข่ายร้านอาหารท้องถิ่นที่ยินดีรับปิ่นโตรวมทั้งกล่องอาหารใช้ซ้ำ ลูกค้าผู้ใช้ภาชนะรักษ์โลกจะได้ส่วนลดจากการซื้ออาหาร 10% นับเป็นโครงการที่เริ่มจากการช่างสังเกตและสร้างสรรค์ ปัจจุบัน Trashless Takeaway ย้ายไปทำที่เบลเยียมและเปลี่ยนชื่อเป็น Tiffin Belgium


Rise Cafe
กินอาหารแบบไทย ไร้ขยะ
คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก Rise Cafe เป็นร้านอาหาร Delivery ที่ใช้ทั้งปิ่นโต ใบบัว และผลไม้มาบรรจุหีบห่ออาหารในรูปแบบที่น่าประทับใจ เช่น ข้าวห่อใบบัวแบบไทยโบราณ ข้าวสับปะรดที่บรรจุในผลสับปะรดเป็นลูกมัดด้วยเชือกส่งถึงบ้าน นอกจากจะมุ่งรักษาสิ่งแวดล้อมและลดขยะพลาสติกแล้ว
ยังมุ่งคัดสรรวัตถุดิบจากชุมชนและสืบสานวิถีการกินอาหารแบบไทยอีกด้วย
มีบริการ ‘ผูกปิ่นโต’ แพ็คเกจคอร์สส่งอาหารติดกัน 5 วัน 10 มื้อ ใช้ปิ่นโตสีเหลืองเปลือกข้าวโพดซึ่งเป็นงานออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ในแต่ละวันจะมีบริการรับปิ่นโตมาทำความสะอาดและส่งคืนให้ใหม่ในวันรุ่งขึ้นพร้อมอาหารมื้อใหม่ จากการเก็บสถิติของทีมงานนั้น มีผู้ใช้บริการปิ่นโตไปถึง 3,000 เถา
ซึ่งช่วยลดการใช้ถุงพลาติกราว 12,000 ใบ คุมมลพิษทางอากาศได้ 6.5 กิโลกรัมและลดการใช้น้ำ 4,920 ลิตร


Living Kafe
กับโมเดลคนส่งนม
อีกหนึ่งร้านอาหารในเครือเดียวกันกับ Rise Cafe ที่รักโลกด้วยการใช้โมเดล Milkman หรือ คนส่งนมผู้ปั่นจักรยานไปส่งนมถึงหน้าบ้านทุกเช้า โมเดลนี้ได้รับความนิยมที่ต่างประเทศในสมัยก่อน แต่กลับเป็นรูปแบบที่อาจหวนกลับมานิยมอีกครั้ง เพราะการปั่นจักยานรวมทั้งใช้ขวดแก้ว Reuse ช่วยลดได้ทั้งพลาสติกและโลกร้อน ขวดแก้วทุกขวดจะถูกนำไปทำความสะอาดและสามารถนำกลับมาใช้ได้อย่างไม่จำกัด ธุรกิจนี้เริ่มทำในเขตพระนครโดยเปลี่ยนจากส่งนมเป็นส่งกาแฟแทนและตั้งชื่อว่า Pranakorn Coffeeman


Green to Go
สร้างระบบให้คนทั้งเมืองสะดวก Reuse
Green to Go จาก Durham ประเทศอังกฤษ ไม่ใช่แอป Food Delivery ทั่วไปที่ให้คนสั่งอาหาร แต่เป็นแอปที่เชิญชวนให้คนทั้งเมืองสมัครสมาชิกเพื่อรับบริการภาชนะใช้ซ้ำ ผู้ที่เสียค่าสมาชิกสามารถเช็คตำแหน่งตู้บริการภาชนะรักษ์โลกตามจุดต่างๆในเมืองจากแอป และสามารถใช้ภาชนะนี้ร่วมกับร้านอาหารกว่า 25 ร้านในเมืองที่ร่วมโครงการ เมื่อใช้เสร็จสามารถคืนภาชนะที่จุด drop-off หรือ ร้านอาหารในเมืองได้
Green to Go จะนำภาชนะไปทำความสะอาดด้วยกระบวนการที่ได้มาตรฐานต่อไป วิธีนี้ช่วยลดภาระของร้านอาหารและทำให้คนทั้งเมืองสะดวกในการลดขยะ
แอปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเมืองชื่อ Don’t Waste Durham
ผู้ก่อตั้งโครงการเชื่อว่าโมเดลนี้อาจเป็นต้นแบบให้เมืองอื่นที่อยากผลักดันการลดขยะด้วยเช่นกัน

#AreeyaHome
#SustainableHappiness
#ZeroWaste

ขอบคุณข้อมูลจาก
Cr : bangkokbiznews / business+ / cbc / greenpeace / positioningmag.com / rise cafe / the cloud / ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
Cr Images : indydishthailand / TiffinBelgium / risecafebkk / livingkafe / GreenToGoNC