ขั้นตอนตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง ฉบับคนงบน้อย
ตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง ฉบับคนงบน้อย
“กำลังจะตรวจรับบ้าน แต่ไม่อยากเสียเงินค่าจ้างตรวจ” ใครบ้างที่กำลังประสบปัญหานี้
ขั้นตอนในการตรวจรับบ้าน / ตรวจรับคอนโด จะอยู่ในช่วงสุดท้ายก่อนการเซ็นรับมอบความเป็นเจ้าของของผู้ที่ซื้อบ้าน หรือซื้อคอนโด ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญและต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อตรวจเช็กสภาพบ้านว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ก่อนส่งมอบหรือไม่ การดำเนินการตรวจบ้านโอนบ้าน จึงควรตรวจเช็กทุกจุดอย่างละเอียด หากใครเพิ่งเคยซื้อบ้านหลังแรก และไม่มีความรู้ด้านงานสถาปนิกหรือการก่อสร้างก็สามารถเลือกใช้บริการการตรวจรับบ้านจากสถาปนิก หรือผู้เชี่ยวชาญ โดยราคาสำหรับการจ้างตรวจบ้านโอนบ้านจะเริ่มต้นที่ประมาณ 3,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับพื้นที่และจำนวนครั้งในการเข้าตรวจด้วย ซึ่งค่าจ้างเหล่านี้ทำเอาหลายๆ คนเป็นกังวลเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเกิดขึ้น แต่จะดีกว่าไหม! ถ้าคุณไม่ต้องเสียเงินในส่วนนี้ และสามารถตรวจรับบ้านได้ด้วยตัวเอง
วันนี้อารียามีเช็กลิสต์ที่จะช่วยทำให้การตรวจรับบ้าน หรือตรวจรับคอนโดนั้นไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และสามารถตรวจรับบ้านได้ด้วยตัวเอง ก่อนการเซ็นรับมอบเป็นเจ้าของบ้านตัวจริง เพียงเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับตรวจรับบ้าน หรือตรวจรับคอนโด และเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมก่อนลุยตรวจบ้านเองตามเช็กลิสต์ ดังนี้
1. เตรียมความพร้อมก่อนไปตรวจรับบ้าน
- ตรวจสอบรายละเอียดของสัญญาให้ถี่ถ้วน เพื่อใช้ตรวจสอบความถูกต้องของรายการต่างๆ ที่จะได้รับ
- นัดวัน และเวลาเข้าตรวจรับบ้านกับโครงการ โดยช่วงเวลาที่ดีสำหรับการตรวจรับบ้านควรนัดช่วงเช้าถึงบ่าย ไม่ควรล่วงเลยถึงเย็น เพราะจะทำให้แสงเข้าถึงไม่เพียงพอและยากต่อการตรวจสอบ
- การไปตรวจรับบ้านควรไปกันอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป เพื่อจะได้ช่วยกันตรวจสอบในจุดต่างๆ ได้อย่างละเอียดมากขึ้น
2. อุปกรณ์ที่ควรเตรียมก่อนไปตรวจรับบ้าน
- อุปกรณ์สำหรับจดบันทึก เพื่อระบุรายการจุดต่างๆ ที่ต้องแก้ไข และทำเช็กลิสต์เข้าตรวจรับในครั้งถัดไป
- กระดาษ Post-it หรือ เทปกาว สำหรับแปะตามจุดต่างๆ เพื่อเตือนให้ช่างทราบว่าจุดดังกล่าวอยู่ในรายการที่ต้องแก้ไข
- ไฟฉาย เพื่อใช้ส่องตามจุดอับและมุมมืดของบ้านให้เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนขึ้น
- ตลับเมตร สำหรับใช้วัดพื้นที่ตามสัญญาที่ได้ระบุขนาดไว้ ว่าตรงกันหรือไม่
- ดินน้ำมัน / ถุงพลาสติก สำหรับใช้อุดรูระบายน้ำ เพื่อตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำในห้องน้ำ
- ถังน้ำ / สายยาง สำหรับตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำตามขอบยางประตู หน้าต่าง และการระบายน้ำ
- เหรียญสิบ สำหรับเคาะพื้นกระเบื้อง เพื่อตรวจสอบความแน่นของปูนกาวที่ใช้ปูพื้นกระเบื้อง
- กระจกบานเล็ก สำหรับใช้ส่องดูจุดต่างๆ ที่อยู่เลยสายตา เช่น ขอบบานประตูด้านบน จุดอับสายตาอื่นๆ เป็นต้น
- บันได สำหรับขึ้นไปตรวจสอบความเรียบร้อยของฝ้าและเพดาน (ติดต่อขอยืมโครงการ)
- เครื่องตรวจสอบระบบไฟรั่ว / ไขควงวัดไฟ สำหรับตรวจสอบความผิดปกติของระบบไฟ และเต้ารับไฟตามจุดต่างๆ ของบ้าน
- ถุงมือยาง / รองเท้ายาง สำหรับใส่ป้องกันในการตรวจสอบระบบไฟ
- ลูกแก้ว หรือลูกเหล็ก สำหรับทดสอบความลาดเอียงของพื้นตามจุดต่างๆ
- ไม้ตรงยาวๆ หรือไม้บรรทัด สำหรับตรวจสอบความเป็นระนาบ และความเรียบของพื้นผิวและผนัง
3. วิธีตรวจรับบ้าน ควรตรวจส่วนไหนบ้าง
-
พื้นที่รอบบ้าน
การตรวจสอบควรไล่จากรั้วบ้าน และประตูรั้วว่าสามารถใช้ได้อย่างปกติหรือไม่ ดูการเชื่อมรั้วเหล็กที่สนิทไม่มีรู มีการทากันสนิม ระบบรางมีการเลื่อนปิดเปิดที่ไม่ลื่นหรือฝืดจนเกินไป พื้นที่ว่างรอบๆ บ้านมีการถมดิน และเดินท่ออย่างเรียบร้อย รวมถึงระบบการระบายน้ำจากตัวบ้านควรมีการระบายออกที่ดี เช็กสภาพพื้นของลานจอดรถ พื้นไม่ควรแตกร้าวหรือทรุดจากตัวบ้าน
-
โครงสร้างของบ้าน
ตรวจเช็กคานของบ้านไม่ควรโค้งงอ ผนังเป็นแนวตรงไม่เอียง เรียบเนียน ไม่มีรอยแตกร้าว วอลเปเปอร์ควรเรียบติดผนัง ไม่เป็นคลื่น และไม่มีคราบสกปรกหรือเชื้อรา เพราะอาจเกิดจากความชื้นอันเนื่องมาจากห้องน้ำ หรือมีการรั่วซึม ในส่วนของฝ้าและเพดาน หากเป็นฝ้าทีบาร์ต้องเรียบเสมอกันไม่มีช่องว่างระหว่างแผ่น หากเป็นฝ้าเพดานฉาบต้องเรียบไม่เห็นรอยยาแนวบริเวณรอยต่อ และสำหรับงานประตูหน้าต่าง วงกบต้องแน่นแนบผนัง มีบังใบ พร้อมใช้งานได้ปกติ ราวบันไดควรมีการติดตั้งที่แน่นหนาไม่โยก รวมถึงพื้นกระเบื้องต้องเคาะทุกแผ่นเพื่อให้มั่นใจว่าไม่เป็นโพรง
-
ระบบไฟฟ้า
การตรวจสอบควรเปิดไฟฟ้าในบ้านทั้งหมด เพื่อเช็กว่าไฟทุกดวงสามารถใช้งานได้เป็นปกติ ไม่มีดวงไหนที่ไม่ติดหรือไฟสว่างไม่เต็มที่ ส่วนปลั๊กไฟตามจุดต่างๆ ควรมีการเสียบเช็กการใช้งานทั้งหมด รวมถึงตรวจสอบการติดตั้งของโคมไฟ เต้ารับ เต้าเสียบทั้งหมดว่ามีการเดินสายไฟที่เป็นระเบียบเรียบร้อยหรือไม่
-
ระบบน้ำและอุปกรณ์
ควรมีการตรวจเช็กการใช้งานของก๊อกน้ำทุกจุด รวมถึงสุขภัณฑ์ เพื่อทดสอบการไหล และตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำ รวมถึงการตรวจสอบมิเตอร์น้ำว่ามีการทำงานที่ปกติ หากปิดระบบน้ำทั้งหมดมิเตอร์น้ำต้องไม่หมุน หากยังหมุนอยู่แสดงว่ามีการรั่วไหลของน้ำในบางจุดที่ต้องรีบแก้ไข
อ่านมาถึงตรงนี้ นอกจากจะได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเช็กลิสต์ และการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าตรวจรับบ้าน หรือตรวจรับคอนโดด้วยตัวเองไปแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างตรวจรับบ้าน ทำให้ไม่ต้องเสียเงินในส่วนนี้เลย ถือว่าเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากทีเดียว
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังมองหาบ้านใหม่สำหรับครอบครัว ในราคาเริ่มต้นที่ 1.59 ล้านบาท* บนทำเลที่รายล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน และสะดวกสำหรับการเดินทาง อารียาขอนำเสนอโครงการบ้านที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของครอบครัวคนรุ่นใหม่ กับโครงการ THE COLORS (เดอะ คัลเลอร์ส) ทาวโฮมสองชั้นที่ฟังก์ชันเทียบเท่าบ้านเดี่ยว โดยเน้นพื้นที่ที่กว้างขวาง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของทุกคนในครอบครัว บนทำเลเด่นรอบเมือง ได้แก่
- เดอะ คัลเลอร์ส รามอินทรา – หทัยราษฎร์
- เดอะ คัลเลอร์ส มิกซ์ วงแหวนฯ – ลำลูกกาคลอง 5
- เดอะ คัลเลอร์ส รังสิต – คลอง 4
- เดอะ คัลเลอร์ส บางบัวทอง-340
- เดอะ คัลเลอร์ส เปอตี วงแหวน – ราชพฤกษ์
นอกจากนี้ อารียายังมีโครงการบ้านดีๆ หลากหลายโครงการรอให้คุณได้ไปสัมผัส สามารถดูโครงการเพิ่มเติมได้ ที่นี่
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด ราคา 1.59 ล้าน เป็นราคาเริ่ม ณ วันที่ ของโครงการ เดอะ คัลเลอร์ส บางบัวทอง-340