WARM WHITE, COOL WHITE & DAYLIGHT

Warm White, Cool White และ Daylight แตกต่างกันอย่างไร

เราใช้แสงไฟในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนถึงหลับ ถ้าใช้ไม่ถูกวิธี ไม่ถูกประเภท อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ในระยะยาว ซึ่งจริงๆ แล้วหลักการนั้นมีไม่มาก แถมยังทำตามได้ไม่ยากด้วย ลองมาดูไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า
– หลอดไฟ Warm White มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 2,500-3,300 เคลวิน ให้แสงในโทนสีส้มสบายตา และทำให้สีของวัตถุผิดเพี้ยนจากภาพจริง ช่วยให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นนุ่มนวล นิยมใช้สร้างบรรยากาศต่างๆ ภายในบ้าน
– หลอดไฟ Cool White มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 4,000 เคลวิน ให้แสงสีขาวสว่างไสวในโทนอุ่น อยู่ในช่วงกึ่งกลางระหว่าง Warm White และ Daylight มอบความรู้สึกทันสมัย โปร่งโล่งสะอาดตา เป็นตัวเลือกกลางๆ ที่ใช้ได้กับแทบทุกพื้นที่
– หลอดไฟ Daylight มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 6,000-6,500 เคลวิน ให้แสงสีขาวในโทนฟ้าสว่าง สามารถมองเห็นได้ชัดเจนที่สุดคล้ายแสงธรรมชาติในตอนกลางวัน ช่วยกระตุ้นร่างกายให้กระปรี้กระเปร่า และเหมาะกับสำหรับบริเวณที่ต้องการเห็นรายละเอียดแจ่มชัด เช่น โต๊ะแต่งหน้า โต๊ะทำงานฝีมือ

รูปแบบไฟมีอะไรบ้าง
– Ambient Light / ไฟบริเวณ
ไฟที่ให้แสงสว่างพื้นที่โดยรวมของห้องนั้นๆ เช่น ไฟซาลาเปา ไฟแขวนกลางห้อง
– Accent Light / ไฟส่องเน้น
ไฟที่ช่วยส่งเสริมความสวยงามของพื้นที่ให้เป็นจุดสนใจ เช่น ไฟส่องภาพแขวนผนัง หรืองานศิลปะ
– Task Light / ไฟเฉพาะจุด
ไฟที่ให้แสงสว่างเฉพาะจุด เช่น โคมไฟตั้งโต๊ะ ไฟแขวนเหนือโต๊ะกินข้าว ไฟหัวเตียง
– Concealed Light / ไฟหลืบ
ไฟที่ติดตั้งในตำแหน่งที่เราไม่สามารถมองเห็นหลอดไฟ เพียงแต่ให้แสงสว่างเท่านั้น เช่น ไฟหลืบในผนัง ไฟใต้ตู้เก็บของต่างๆ

แค่จัดแสงให้เหมาะ ห้องก็สวยเริ่ดได้
ทุกวันนี้เราอาจไม่ได้ใช้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งสำหรับวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียว การเลือกใช้แสงไฟจึงไม่จำเป็นต้องเฉพาะเจาะจงว่าห้องเดียวต้องใช้ไฟประเภทเดียว โดยคุณสามารถนำไปมิกซ์แอนด์แมตช์ให้เหมาะกับการใช้งานได้
– ห้องนอน + ห้องทำงาน ห้องนอนส่วนมากมักตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งมีแสงตามธรรมชาติในช่วงเช้า ควรสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากที่สุด แนะนำให้ใช้ Cool White ที่ไม่สว่างจ้าเป็นไฟหลัก อาจติดบนเพดานเป็นแบบฝังฝ้า แล้วเสริมด้วย Warm White แบบฝังฝ้าหรือแบบโคมหัวเตียงก็ได้ สามารถลดความวิตกกังวลระหว่างคืนช่วยให้นอนหลับได้สนิท ส่วนบริเวณโต๊ะทำงาน ใช้โคมตั้งโต๊ะที่เป็นหลอด Daylight และพยายามหลีกเลี่ยงการตั้งโต๊ะที่ต้องหันหลังให้ไฟเพดาน เพื่อไม่ให้เกิดเงาสะท้อนเวลาเปิดไฟช่วงกลางคืน
– ห้องนอน + walk-in closet มุมแต่งตัวหรือห้องแต่งตัวในห้องนอน มักเป็นมุมอับ เพราะจะทำช่องเปิดหน้าต่างก็กลัวไม่เป็นส่วนตัว และแสงไฟจากห้องนอนก็ส่องไปไม่ถึง ถ้าคุณมีโอกาสได้ติดตั้งระบบไฟตั้งแต่แรกก็ควรจัดให้เป็นแบบ Daylight สำหรับห้องแต่งตัวไปเลย เพราะเวลาคุณลองชุดหรือแต่งหน้านั้น ต้องอิงกับแสงสว่างที่เป็นแสงธรรมชาติมากที่สุด
– ห้องครัว + ห้องรับแขก หลายคนมีงานอดิเรกคือชอบทำอาหาร เลยชวนเพื่อนๆ มาแฮงก์เอาต์ที่บ้านบ่อยๆ การจัดห้องครัวกึ่ง Open Space ไว้รับแขกด้วยก็สะดวกดี ส่วนครัวที่ใช้ประกอบอาหารสามารถใช้ได้ทั้ง Daylight และ Cool white บางคนใช้ Cool White เฉพาะจุด อย่างใต้เครื่องดูดควันหรือในตู้เก็บของ สำหรับห้องรับแขกและส่วนรับประทานอาหารก็เหมือนกัน แต่ควรเสริมด้วย Warm White เพื่อสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นละมุนตามากขึ้น ให้ความรู้สึกสบายๆ เป็นกันเอง แถมยังช่วยให้อาหารดูน่ารับประทานยิ่งขึ้นอีกด้วย
– ห้องน้ำ + แกลเลอรี อ่านไม่ผิดหรอกค่ะ ลองสังเกตดูสิว่าสมัยนี้ห้องน้ำตามคาเฟ่เก๋ๆ มักมีงานศิลปะประดับอยู่ และหลายบ้านก็เริ่มนำทริกนี้มาใช้ สำหรับงานศิลปะนั้นเน้นเรื่องสัมผัสทางสายตา คุณสามารถติดตั้ง Cool White ให้ส่องไปที่ชิ้นงานโดยเฉพาะ ส่วนห้องน้ำก็ใช้แบบ Daylight ได้เลย ควรติดตั้งแบบฝังฝ้าเพดาน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำกระเด็นไปโดนจนไฟช็อต แต่หากต้องการปลดปล่อยอารมณ์ทิ้งกายในอ่างน้ำแบบสปาส่วนตัว หลอดไฟที่เหมาะสมก็คือ Warm White และ Cool White
– ห้องทำงาน + ห้องรับแขก สามารถใช้ Daylight เป็นไฟหลักได้ทั้งสองพื้นที่ ด้วยแสงที่สว่างสดใสและพอเพียงโดยเฉพาะพื้นที่ทำงาน ควรมี Daylight เพิ่มขึ้นอีกหน่อย เพื่อลดอาการปวดกระบอกตาเวลาต้องจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ ทั้งนี้ยังช่วยสร้างสมาธิและกระตุ้นการทำงานได้เป็นอย่างดี ส่วนพื้นที่รับแขกน่าจะมีไฟเสริมเป็น Warm White อย่างโคมตั้งพื้นเด่นๆ สักชิ้น หรือไม่ก็ใช้แบบติดผนังเป็นเซตเก๋ๆ ถือเป็นของตกแต่งกึ่ง Sculpture ไปด้วยในตัว

แสงไฟนอกบ้านควรเลือกอย่างไร
พื้นที่ภายนอกมีปัจจัยเรื่องฝุ่น ควันและฝนเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ควรคำถึงถึงอันดับแรกคือเรื่องของการติดตั้งระบบไฟฟ้าที่ปลอดภัย จากนั้นต้องเลือกทั้งหลอดไฟและตัวโคมไฟที่เป็นแบบเฉพาะสำหรับใช้ภายนอก ปัจจุบันมีโคมไฟแบบที่กันน้ำ กันแมลง กันฝุ่น ให้เลือกช้อปค่อนข้างเยอะ เช่นเดียวกับประเภทของโทนแสงไฟที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แสงสีขาวจ้าจนแสบตา แต่มีทั้งไฟสร้างบรรยากาศ ไฟส่องสว่างเฉพาะจุด อยู่ที่การเลือกใช้งานตามรสนิยมเจ้าของบ้าน

จะเห็นได้ว่าการเลือกโทนสีหลอดไฟให้เหมาะสมกับการใช้งานนั้น นอกจากจะช่วยสร้างอารมณ์ความรู้สึกให้แก่ผู้พักอาศัยแล้ว ยังเป็นวิธีตกแต่งบ้านในยามค่ำคืนให้ดูสวยมีสไตล์ โดยไม่จำเป็นต้องเสียงบประมาณไปกับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่นๆ การซื้อหลอดไฟนั้นคุณสามารถสังเกตได้จากข้อความบนกล่องผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะระบุว่าหลอดไฟเป็นโทนสีแบบใดอย่างชัดเจน เพื่อให้คุณเลือกใช้งานได้อย่างตรงจุด

Credit : naibann.com / wemall.com / thestandard.co

#AreeyaHome
#HomeTips