A PASSION FOR AESTHETICS

A PASSION FOR AESTHETICS

“สุนทรียศาสตร์แห่งการอยู่อาศัยและใช้ชีวิต คือ สิ่งที่มนุษย์ถวิลหามาครอบครอง” ทุกคนรู้ ลูกบ้านรู้ และอารียา รู้ดีที่สุด Aesthetic Design & Premium Quality จึงเป็นแก่นหลักของงานออกแบบที่ไร้ขีดจำกัดของ Areeya Property ที่คู่ขนานกันไปอย่างแนบแน่นกับแนวความคิดที่เน้นความยั่งยืน และวิสัยทัศน์แห่งโลกอนาคต โดยหยิบยื่นประสบการณ์สุนทรียะ (Aesthetic Experience) อันเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ความงามทั้งจากธรรมชาติและผลงานศิลปะทุกแขนง ซึ่งทําให้รู้สึกเพลิดเพลินหรือประทับใจ มีองค์ประกอบอยู่ 3 ประการคือ ความงาม (Beauty) ความแปลกตา (Picturesqueness) และความน่าทึ่ง (Sublimity)
วันนี้เราขอนำเสนอผลงานที่มีชั้นเชิงทางสถาปัตยกรรมเจ๋งๆ ที่โดดเด่นทั้งรูปลักษณ์และเต็มเปี่ยมด้วยสุนทรียะในบริบทที่แตกต่างกันไป และไม่ว่าเทรนด์การออกแบบของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ความรื่นรมย์ยังคงถูกสอดแทรกไว้เสมออย่างกลมกลืมในทุกยุคทุกสมัย

– Hotel Barceló Torre de Madrid ความขี้เล่นซุกซนในโทนสีพาสเทล

โรงแรมที่รุ่มรวยไปด้วยศิลปะและวัฒนธรรมโดย Jaime Hayon นักออกแบบชาวสเปน ซึ่งเป็นที่รู้จักดีถึงอารมณ์ขันอันเป็นเอกลักษณ์ในงานออกแบบโดยมาพร้อมกับความชำนาญทางศิลปะชั้นสูง ด้วยสไตล์อันโดดเด่นของเขา จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่าผลงานที่ออกมาจะน่าตื่นตาตื่นใจ โรงแรมแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 1957 และตอนนี้ได้กลายมาเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ เป็นหน้าเป็นตาของเมืองที่มีกลิ่นอายแห่งศิลปะไปเรียบร้อยแล้ว งานของ Jaime เป็นเสมือนผืนผ้าใบที่มีชีวิต ทุกซอกทุกมุมรวมทั้งผนังจรดเพดานเต็มไปความคิดสร้างสรรค์ พื้นที่ทั้งหมดทั้งโอ่โถงกว้างใหญ่และสง่างาม ในขณะเดียวกันก็อ่อนน้อม มีอารมณ์ขันและความเฉียบแหลม ฉากหลังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผนังทาสีพาสเทลสุดคิ้วท์ พื้นหินอ่อนสีขาว และแสงธรรมชาติที่ลอดผ่านเข้ามาทางช่องหน้าและผนังกรุกระจกขนาดใหญ่ ช่วยขับเน้นสีสันของเฟอร์นิเจอร์และของประดับตกแต่งให้โดดเด่นออกมาได้เป็นอย่างดี
การนำสัญลักษณ์ต่างๆ มาสะท้อนประวัติศาสตร์อันน่าประทับใจของเมืองนี้ในมุมมองที่ทันสมัย รวมไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ เช่น รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมทำให้นึกถึงซุ้มโค้งแบบโรมันและอิทธิพลของสไตล์มัวร์ ศิลปะจากทองเหลืองตามหน้าต่างและภาพบนฝาผนังที่ Jaime สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษจากศิลปินสื่อผสม ล้วนแต่สะท้อนมรดกทางวัฒนธรรมอันหลากหลายของสเปน อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ถูกแสดงออกมาได้อย่างสมดุลและลงตัว “ผมทุ่มเทเต็มที่ในการสร้างสรรค์พื้นที่พิเศษแห่งนี้ขึ้นมา เพื่อให้มันเป็นตัวแทนของภาพลักษณ์แบบใหม่ของประเทศสเปน ที่แตกต่างออกไปจากความสวยงามแบบดั้งเดิม” Jaime กล่าว

– QISHE COURTYARD จากบ้าน “พัง” มากสู่บ้าน “ปัง”มาก

นี่คือตัวอย่างความร่วมสมัยอันน่าทึ่ง บ้านจีนซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านวัฒนธรรมดั้งเดิมของกรุงปักกิ่ง กลับมามีชีวิตชีวาเเละเอื้อต่อการใช้สอยของคนยุคใหม่อีกครั้ง โดยการออกแบบและรีโนเวตของทีมสถาปนิก ARCHSTUDIO
ตัวอาคารของบ้านประกอบด้วยอาคาร 7 หลัง และคอร์ตยาร์ด 3 คอร์ตที่แทรกอยู่ภายในมีสภาพทรุดโทรมมาก โครงสร้างเเละองค์ประกอบต่างๆ มีความเสียหายเกือบทั้งหมด เหลือเพียงคานไม้เเละซุ้มประตูเเบบจีนที่ยังคงใช้งานได้ สถาปนิกจึงพยายามเก็บรักษาเอกลักษณ์ที่เหลืออยู่ไว้ แล้วเพิ่มฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตเข้าไป โดยใช้ “ระเบียงแบบฟรีฟอร์ม” และองค์ประกอบหลักของสถาปัตยกรรมจีนดั้งเดิมเป็นตัวเชื่อมอาคารทั้ง 7 หลัง ระเบียงที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่ระเบียงตรงๆ อย่างที่เราคุ้นเคย เเต่กลับเป็นระเบียงทรงโค้งที่บิดไปมา เเละมีรูปทรงแตกต่างกันออกไป เพื่อนำเสนอมุมมองและการใช้งานของแต่ละพื้นที่ซึ่งไม่เหมือนกัน เกิดเป็นการผสมผสานระหว่างตัวบ้านกับภูมิทัศน์ล้อมที่มีลูกเล่นน่าสนใจ นอกจากความโค้งจะถูกใช้กับรูปทรงของระเบียงแล้ว ยังนำมาใช้กับผนังกั้นภายในแบบกระจกใสในส่วนของต่างๆ ของตัวบ้านอีกด้วย
ขณะที่คอร์ตยาร์ดกลางกลุ่มอาคารกลายเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมขนาดใหญ่ เมื่อเลื่อนประตูออกพื้นที่ภายในก็จะถูกหลอมรวมไปกับคอร์ตยาร์ดด้านนอก ส่วนในแง่ของวัสดุ เพื่อให้เชื่อมโยงกับของเก่ามากที่สุด สถาปนิกได้เลือกเก็บโครงไม้สนเดิมที่ยังใช้งานได้ไว้ แล้วใช้ลามิเนตไม้ไผ่ที่ให้ความรู้สึกเหมือนไม้แต่มีความคงทนสูง มาออกแบบเป็นส่วนของประตู หน้าต่าง ระเบียง และเฟอร์นิเจอร์ ภายใต้บรรยากาศที่ดูกลมกลืนไปกับความเก่าเเก่ได้อย่างลงตัว

– CRIMSON ROOM บาร์ลับที่จะปลุกความเป็นแกสบี้ในตัวคุณ

แจ๊สบาร์ม่านแดงซึ่งตั้งอยู่ภายในโครงการ Velaa Sindhorn Village ย่านสวนลุม หากใครไม่เคยมาที่นี่ อาจต้องเดินวนหากันอยู่หลายรอบสักหน่อย เพราะหน้าร้านมีเพียงป้ายตั้งพื้นขนาดเล็กสีแดงตัดกับผนังไม้เดินลายด้วยสแตนเลสสีทองตลอดผืน พร้อมประตูทางเข้าหนึ่งบาน พาคุณย้อนเวลากลับไปสู่ยุค Jazz Age หรือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
ภายในคุมโทนด้วยสีแดงทั้งห้องตัดกับสีทองอร่าม จัดจ้านด้วยการเลือกใช้ผ้ากำมะหยี่มาเป็นวัสดุบุเฟอร์นิเจอร์ เพิ่มความโก้หรูรับกับราวสแตนเลสเงาวิบวับ ท็อปโต๊ะหินอ่อน และแชนเดอร์เลียร์ห้อยระย้ากลางเวที เพดานด้านบนสูงโออ่า บรรยากาศสุดอลังการราวกับฉากในหนังฮอลลีวู้ดอย่างไรอย่างนั้น บ่งบอกถึงค่านิยมและสังคมสุดเหวี่ยงในยุค 1920s ที่เต็มไปด้วยความหรูหราฟูฟ่าของแฟชั่น และการออกงานสังคม ผ่านบรรยากาศแบบเธียร์เตอร์หรือโรงละคร ซึ่งมีพื้นที่เเบบลดหลั่นกันลงไป ไล่ตั้งแต่ส่วนของบาร์ด้านบนสุดไปยังโซนที่นั่งแบบครึ่งวงกลมที่มีความเป็นส่วนตัว ทั้งยังได้อารมณ์เหมือนนั่งดูหนังในโรงละครแบบไม่บดบังมุมมองไปยังเวทีเบื้องล่าง ส่วนเมนูของเครื่องดื่มนั้นถูกไล่ลำดับไปตามแชปเตอร์ของมหรสพ เพื่อสร้างอารมณ์และประสบการณ์ในการดื่ม เริ่มจากช่วงโหมโรงกับค็อกเทลดื่มง่าย เน้นความสดชื่นสำหรับบิ้วด์อารมณ์ เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ช่วงการแสดงจริงกับค็อกเทลรสชาติที่แรงขึ้น กระตุ้นให้คุณเพลิดเพลินไปกับเสียงดนตรีแจ๊ส ก่อนจะปิดท้ายการแสดงด้วยค็อกเทลรสหอมหวานเจือกลิ่นผลไม้ ส่งความสดชื่นผ่อนคลายก่อนกลับบ้าน

– The Samsen Street Hotel ที่พักสุดชิคราคาหลักร้อย

โรงแรมระดับสามดาวที่ปรับปรุงจากอาคารเดิมซึ่งเคยเป็นโรงแรมม่านรูดมาก่อน ความสามารถในการนำเอาอัตลักษณ์แบบ “Very Thai” มาถ่ายทอดอย่างสนุกสนานและมีชีวิตชีวา กับการประยุกต์ใช้พื้นที่อันจำกัดให้เป็น Co-Space Living ได้อย่างชาญฉลาด ทั้งในแง่ของความโดดเด่นสวยงามทางสถาปัตยกรรมและฟังก์ชั่นที่แยบยลในทุกตารางนิ้ว CHAT Architects ได้ตกตะกอนความคิดในการบอกเล่านิยามของกรุงเทพฯ อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านงานออกแบบ The Samsen Street Hotel

“นั่งร้าน” คือ โจทย์หลักที่สถาปนิกเลือกนำมาใช้เป็นพระเอกของงาน เพราะนั่งร้านคืออุปกรณ์ชิ้นสำคัญในงานก่อสร้างที่เราเห็นกันจนชินตาในเมืองไทย โดยสถาปัตยกรรมได้ทำหน้าที่แสดงคาแรคเตอร์ของโรงแรม เป็นลูกเล่นทั้งด้านภาพลักษณ์และการใช้งาน รวมถึงบ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นเมืองแบบสตรีทๆ ของกรุงเทพฯ โดยนั่งร้านที่เห็นได้รับการออกแบบให้เรียงต่อกันแบบแนวตั้ง เพื่อใช้เป็นทั้งฟาซาดและระเบียงที่นั่งห้อยขาได้ โดยมีทั้งที่หันหน้าเข้าสู่ส่วนกลางของโรงแรมซึ่งเป็นโรงหนังกลางแปลงและหันออกสู่เพื่อนบ้านโดยรอบ นอกจากนี้นั่งร้านยังทำหน้าที่เป็นระเบียงชายคาให้กับทางเดินด้านล่างและพื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับใช้เป็นทั้งร้านกาแฟ ร้านอาหารสตรีทฟู้ด และพื้นที่นั่งเล่นของเเขกผู้มาใช้บริการ
อีกหนึ่งดีเทลสำคัญที่อดกล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือการเลือกใช้ “สีเขียว” เป็นสีหลักในการออกแบบ เนื่องจากสีเขียวพาสเทลมักแฝงอยู่ในรายละเอียดของบ้านไทยยุคเก่าเสมอ นั่นเท่ากับเป็นการหลอมรวมงานสถาปัตยกรรมให้เข้ากับบริบทของเมือง สร้างความเป็นกันเองพร้อมกับตัวอาคารที่เป็นจุดสนใจได้อย่างมีมิติ รวมไปถึงการใช้กราฟิก ฟอนท์ภาษาไทยและโปสเตอร์หนังไทยสมัยก่อนที่ผสานไปกับการออกแบบภายใน