รู้ยัง? ดอกเบี้ยบ้าน ใช้ลดหย่อนภาษีได้นะ

ช่วงหลังปีใหม่ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เรียกได้ว่าเป็นช่วงเทศกาลแห่งการยื่นแบบแสดงรายได้และเสียภาษีประจำปีของคนไทยทุกคนที่มีรายได้ สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มทำงานอาจจะยังไม่คุ้นชินกับการยื่นแบบภาษีประจำปี แต่ถ้าใครที่ทำงานมานานหรือมีเงินเดือนที่สูงในเกณฑ์ของกรมสรรพากรที่ต้องเสียภาษี จะต้องรู้ว่ามีเงื่อนไขที่ทำให้คุณเสียภาษีน้อยลง นั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั่นเอง แต่รู้หรือไม่ว่าในบรรดาค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ หนึ่งในนั้นคือดอกเบี้ยบ้าน สำหรับคนที่กู้ซื้อบ้านกับธนาคาร สามารถนำดอกเบี้ยบ้านที่จ่ายไปตลอดทั้งปีมาคำนวณ เพื่อหักลดหย่อนเป็นค่าใช้จ่ายได้ด้วย

การนำเงินค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนภาษี สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง โดยรายการลดหย่อนส่วนนี้จะสามารถนำไปกรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเภทเดียว หรือชื่อย่อ ภ.ง.ด.91 ซึ่งรายการลดหย่อนในส่วนของดอกเบี้ยบ้านจะอยู่ในหมวด ค. รายการลดหย่อนและยกเว้นหลังจากหักค่าใช้จ่าย ข้อที่ 11. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ทั้งนี้การนำดอกเบี้ยบ้านมาใช้ลดหย่อนมีเงื่อนไขที่ต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

ดอกเบี้ยบ้านสามารถลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท

กรมสรรพากรได้กำหนดให้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ เนื่องจากที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์ทุกๆ คนควรมี รัฐบาลจึงสนับสนุนให้ทุกคนมีบ้านและช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องภาษี ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิ์ในการนำดอกเบี้ยบ้านที่ชำระในการผ่อนบ้านมาลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ยกตัวอย่างเช่น

  • กรณีดอกเบี้ยบ้านไม่เกิน 100,000 บาท

สมมติว่าปีที่ผ่านมาจ่ายดอกเบี้ยบ้านไปทั้งหมด 83,000 บาท เมื่อนำยอดดอกเบี้ยบ้านไปคำนวณ จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจริงในจำนวน 83,000 บาท

  • กรณีดอกเบี้ยบ้านเกิน 100,000 บาท

สมมติว่าปีที่ผ่านมาจ่ายดอกเบี้ยบ้านไปทั้งหมด 120,000 บาท เมื่อนำยอดดอกเบี้ยบ้านไปคำนวณ จะสามารถลดหย่อนได้เพียง 100,000 บาท ส่วนเกิน 20,000 บาท จะไม่ถูกนำมาคำนวณในการลดหย่อนนั่นเอง

ดอกเบี้ยบ้านในกรณีมีบ้านมากกว่า 1 แห่ง

การนำดอกเบี้ยบ้านมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษีนั้น สามารถนำรายการค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยบ้านมากกว่า 1 แห่ง มาใช้ลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด ภายใต้เงื่อนไขการคำนวณดอกเบี้ยบ้านที่นำมาใช้ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

กู้ร่วมจะใช้ลดหย่อนอย่างไร

ตามหลักเกณฑ์ปกติหากยื่นกู้เพียงคนเดียวจะสามารถนำดอกเบี้ยบ้านมาใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท แต่ในกรณีที่เป็นการกู้ร่วมตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จะมีการหารดอกเบี้ยกัน โดยประมวลกฎหมายรัษฎากรได้กำหนดเงื่อนไขในส่วนนี้ไว้ว่า

“กรณีที่เป็นการกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่าๆ กัน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท”

ยกตัวอย่างเช่น บ้านหลังหนึ่งมีการกู้ร่วมของคนสองคน โดยในปีที่ผ่านมามีการจ่ายดอกเบี้ยบ้านไปจำนวน 120,000 บาท ทั้งสองคนนี้จะสามารถแบ่งดอกเบี้ยบ้านจากวงเงินสูงสุดที่ 100,000 บาท หรือหารกันได้คนละ 50,000 บาท

จดทะเบียนสมรสลดหย่อนอย่างไร

กรณีการนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนภาษีสำหรับบุคคลที่จดทะเบียนสมรสกัน มีเงื่อนไขในการลดหย่อนอยู่ 5 ประเภท ซึ่งจะถูกแบ่งเงื่อนไขออกไปตามการมีรายได้ การยื่นกู้ และการยื่นแบบ โดยสามารถอธิบายการนำดอกเบี้ยบ้านไปยื่นขอลดหย่อนภาษีได้ดังนี้

ผู้มีเงินได้ กู้บ้าน การยื่นแบบ การลดหย่อนภาษีสินเชื่อบ้าน
ฝ่ายเดียว สองฝ่าย กู้ร่วม แยกกู้ แยกยื่น ยื่นรวม
ตามจริงไม่เกิน 100,00 บาท
ตามจริง รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
ตามจริง รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
ตามจริง ฝ่ายละไม่เกิน 100,000 บาท
ตามจริง ฝ่ายละไม่เกิน 100,000 บาท
  1. กรณีฝ่ายสามีหรือภรรยา มีรายได้เพียงฝ่ายเดียว มีการกู้ร่วมกัน หากทำการยื่นแบบแสดงรายได้และเสียภาษีร่วมกัน จะสามารถลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท
  2. กรณีฝ่ายสามีและภรรยา มีรายได้ทั้งสองฝ่าย มีการกู้ร่วมกัน หากทำการยื่นแบบแสดงรายได้และเสียภาษีรวมกัน จะคล้ายกับกรณีการกู้ร่วม ซึ่งสามารถลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท
  3. กรณีฝ่ายสามีและภรรยา มีรายได้ทั้งสองฝ่าย มีการกู้ร่วมกัน หากทำการยื่นแบบแสดงรายได้และเสียภาษีแบบแยกยื่น จะต้องเฉลี่ยสัดส่วนของดอกเบี้ยเป็น 2 ส่วนที่เท่ากัน รวมกันสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  4. กรณีฝ่ายสามีและภรรยา มีรายได้ทั้งสองฝ่าย แยกยื่นกู้ แต่ยื่นแบบแสดงรายได้และเสียภาษีรวมกัน จะสามารถลดหย่อนได้ตามจริง ฝ่ายละไม่เกิน 100,000 บาท
  5. กรณีฝ่ายสามีและภรรยา มีรายได้ทั้งสองฝ่าย แยกยื่นกู้ และยื่นแบบแสดงรายได้และเสียภาษีแบบแยกยื่นจะสามารถลดหย่อนได้ตามจริง ฝ่ายละไม่เกิน 100,000 บาท

หลักฐานในการใช้ดอกเบี้ยบ้านเพื่อลดหย่อนภาษี

โดยปกติแล้วทุกงวดการชำระสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะมีใบเสร็จที่แจกแจงเงินต้นและดอกเบี้ยระบุมาให้อย่างชัดเจนแล้ว สำหรับใครที่เก็บใบเสร็จส่วนนี้ก็สามารถนำยอดดอกเบี้ยบ้านในแต่ละเดือนมารวมกันแล้วกรอกเป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยบ้านไปได้เลย แต่ตามหลักที่ถูกต้องควรขอหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ทำการขอสินเชื่อ เพื่อนำมาใช้เป็นเอกสารยืนยันการชำระเบี้ยที่ถูกต้อง โดยเอกสารจะสรุปรวมยอดดอกเบี้ยบ้านมาเป็นก้อนเดียวทั้งปีที่สามารถนำไประบุเป็นค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันหลายๆ ธนาคารได้อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้ทำการขอหนังสือรับรองดอกเบี้ยในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมล ได้อย่างสะดวก

ใครที่เพิ่งเริ่มผ่อนสินเชื่อบ้านไป หลังจากอ่านบทความนี้แล้วต้องรีบกลับไปสำรวจดอกเบี้ยบ้านที่ได้ชำระไปทั้งปีเพื่อนำไปขอลดหย่อนภาษีประจำปีกัน แต่ถ้าใครกำลังมองหาบ้านใหม่ และกำลังวางแผนในการกู้ขอสินเชื่อ อารียาขอแนะนำโครงการหลากหลายทำเล ให้คุณได้มีโอกาสเป็นเจ้าของบ้านใหม่สักหลัง ลองแวะเข้ามาชมโครงการบ้านจากอารียาได้ ที่นี่